กฎหมายควรรู้สำหรับคอนโด
พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายสำคัญของคนอยู่อาศัยคอนโด ฉบับแก้ไขล่าสุด 2551 ได้ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น โดยแก้ไขบางมาตราเนื่องจากมีการบังคับใช้มานาน และปรากฏว่าหลักเกณฑ์และรายละเอียดหลายประการไม่สามารถใช้บังคับได้จริงในทางปฏิบัติ ที่สำคัญคือไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองประชาชนที่ซื้อห้องชุดเพื่อการอยู่อาศัย การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายและคุ้มครองประชาชนผู้ซื้อห้องชุดเพื่อการอยู่อาศัย ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเห็นสมควรปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก
มาตราที่สำคัญ คือ มาตรา 4 คำนิยาม
“อาคารชุด” หมายความว่า อาคารที่บุคคลสามารถแยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนๆ โดยแต่ละส่วนประกอบด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง
“ทรัพย์ส่วนบุคคล” หมายความว่า ห้องชุด และหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย
“ห้องชุด” หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่แยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนเฉพาะของแต่ละบุคคล
“ทรัพย์ส่วนกลาง” หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม
“หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด” หมายความว่า หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง
“เจ้าของร่วม” หมายความว่า เจ้าของห้องชุดในอาคารแต่ละอาคารชุด
“นิติบุคคลอาคารชุด” หมายความว่า นิติบุคคลที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้
นิยามที่เพิ่มเติมในฉบับ พ.ศ. 2551
“การประชุมใหญ่” หมายความว่า การประชุมใหญ่สามัญหรือการประชุมใหญ่วิสามัญของเจ้าของร่วม แล้วแต่กรณี
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการนิติบุคคลอาคารชุด
“ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
นอกจากนี้ที่สำคัญคือ หมวด 2 กรรมสิทธิ์ในห้องชุด เช่น มาตรา 13 เจ้าของห้องชุดมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลที่เป็นของตน และมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง
กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535)
กฎกระทรวงฉบับนี้ออกตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปการภายในและภายนอกอาคาร สาระสำคัญ ข้อ 1 คำนิยาม เช่น
“อาคารขนาดใหญ่พิเศษ” หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างเพื่อใช้อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตร.ม. ขึ้นไป
กฎหมายฉบับนี้มี 6 หมวด แต่ละหมวดมีความสำคัญที่คนอยู่คอนโดควรรู้ เช่น
หมวด 1 ลักษณะของอาคาร เนื้อที่ว่างของภายนอกอาคารและแนวอาคาร
- ข้อ 3 อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีถนนหรือที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุมโดยรอบอาคารกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร และรถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้โดยสะดวก
หมวด 2 ระบบระบายอากาศ ระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันเพลิงไหม้
- ข้อ 16 ในอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทุกชั้นข้อ 18 อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีระบบป้องกันเพลิงไหม้ ประกอบด้วย ระบบท่อยืน ที่เก็บน้ำสำรอง และหัวรับดับเพลิง ส่วนหมวดอื่นๆ ก็จะเกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปการ เช่น ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสียและการระบายน้ำทิ้ง ระบบกำจัดขยะมูลฝอย เป็นต้น
กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543)
กฎกระทรวงฉบับนี้ออกตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เกี่ยวข้องกับสภาพภายในและภายนอกอาคาร สาระสำคัญในข้อ 1 คำนิยาม เช่น
“อาคารอยู่อาศัย” หมายความว่า อาคารซึ่งโดยปกติบุคคลใช้อยู่อาศัยได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นการอยู่อาศัยอย่างถาวรหรือชั่วคราว
“อาคารอยู่อาศัยรวม” หมายความว่า อาคารหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับหลายครอบครัว โดยแบ่งออกเป็นหน่วยแยกจากกันสำหรับแต่ละครอบครัว
“อาคารขนาดใหญ่” หมายความว่า อาคารที่มีพื้นรวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังคาเดียวกันเกิน 2,000 ตร.ม. หรืออาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 15 ม. ขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังคาเดียวกันเกิน 1,000 ตร.ม. แต่ไม่เกิน 2,000 ตร.ม. การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงดาดฟ้าสำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด
หมวด 3 ที่ว่างภายนอกอาคาร
- ข้อ 33 (1) อาคารอยู่อาศัย และอาคารอยู่อาศัยรวม ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544
คนที่พักอาศัยอยู่คอนโดมักจะเจอปัญหาที่จอดรถบ่อยๆ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ
หมวด 9 อาคารจอดรถ ที่จอดรถ ที่กลับรถและทางเข้าออกของรถ
ส่วนที่ 1 ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ หมายความว่า อาคารอยู่อาศัยรวมหรืออาคารชุด ที่มีพื้นที่ห้องชุดแต่ละห้องชุดตั้งแต่ 60 ตร.ม. ขึ้นไป จะต้องมีที่จอดรถ และต้องจัดให้มีที่จอดรถตามจำนวนที่กำหนดของแต่ละประเภทของอาคารที่ใช้เพื่อการนั้นๆ ดังนี้
1. อาคารที่อยู่อาศัยรวมหรืออาคารชุด ให้มีที่จอดรถ 1 คันต่อ 1 ห้องชุด
2. อาคารขนาดใหญ่ ได้มีที่จอดรถ 1 คันต่อพื้นที่อาคาร 120 หรือให้มีที่จอดรถตามจำนวนที่กำหนดของแต่ละประเภทของอาคารที่ใช้เป็นที่ประกอบกิจการในอาคารขนาดใหญ่นั้นรวมกัน
ส่วนที่ 2 อาคารจอดรถ สาระสำคัญ คือ
อาคารจอดรถ หมายถึง อาคารที่มีที่จอดรถจำนวนตั้งแต่สิบคันขึ้นไป หรือมีพื้นที่จอดรถ ทางวิ่ง และที่กลับรถในอาคารรวมกันตั้งแต่ 300 ตร.ม. ขึ้นไปและถ้าอาคารจอดรถอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน ต้องจัดให้มีระบบระบายอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนอากาศภายในชั้นนั้นๆ ได้หมดภายใน 15 นาที
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายสำคัญที่คนซื้อคอนโดต้องรู้ให้ได้ มีทั้งนิติกรรมและสัญญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ กฎหมายว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคล เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการค้า โดยวางระเบียบเกี่ยวพันทางการค้าหรือธุรกิจระหว่างบุคคล เช่น กฎหมายว่าด้วยการซื้อขาย การเช่าทรัพย์ การจำนอง การจำนำ เป็นต้น
สาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 149
นิติกรรม หมายความว่า การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ
หลักเกณฑ์ของนิติกรรม
- การกระทำของบุคคลโดยการแสดงเจตนา
- การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมาย
- การกระทำของบุคคลโดยความสมัครใจ
- มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์
- เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ
สิ่งแรกที่จะต้องทำความเข้าใจ “นิติกรรม” เรียกว่า ความเคลื่อนไหวในสิทธิ หรือ ความเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ อธิบายง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น ของหายแล้วไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจไว้ก่อน (ยังไม่รู้ใครเอาไป) กรณีนี้ไม่เกิดนิติกรรม เพราะไม่มีการเคลื่อนไหวใน 5 สิทธิเกิดขึ้น แต่เมื่อไปถอนแจ้งความร้องทุกข์ ก็จะเกิดนิติกรรมขึ้น เพราะมีการเคลื่อนไหวใน 5 สิทธิเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการระงับสิทธินั้น
นอกจากนี้ต้องดูบรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 1 การซื้อ-ขาย มาตรา 453 ถึง มาตรา 516 ด้วย เช่น
มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
และมาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน
ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543
ประกาศฯ นี้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 กำหนดให้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญามีอำนาจกำหนดให้การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการใดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา และมีอำนาจกำหนด หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของสัญญา โดยการกำหนดของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา พ.ศ. 2542
สาระสำคัญอยู่ในมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า
มาตรา 3 คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาจะกำหนดให้การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการใดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการนั้นจะต้องเข้าลักษณะหนึ่งลักษณะใด ดังต่อไปนี้
- (1) เป็นธุรกิจที่มีการใช้ข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
- (2) เป็นธุรกิจที่มีการใช้สัญญาสำเร็จรูปอย่างแพร่หลาย
- (3) เป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้บริโภค ทั้งนี้โดยพิจารณาจากฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ความเข้าใจ และความสันทัดจัดเจน
มาตรา 4 การกำหนดลักษณะของสัญญา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
- (1) ให้ผู้บริโภคทราบสิทธิและหน้าที่ของตนตลอดจนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการโดยชัดเจนตามควรแก่กรณี
- (2) ไม่เป็นการจำกัดหรือยกเว้นความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจในส่วนที่เป็นสาระสำคัญโดยไม่มีเหตุผลที่สมควรเพียงพอ
- (3) ต้องคำนึงถึงความสุจริตในการประกอบธุรกิจ
- (4) ให้เยียวยาความเสียหายในเวลาอันสมควรในกรณีที่มีการฝ่าฝืนสัญญา
- (5) จัดให้มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแสดงเจตนาของผู้ประกอบธุรกิจในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค
- (6) ต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระเกินควรแก่การประกอบธุรกิจ
มาตรา 5 ก่อนออกประกาศกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา ให้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญารับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยคำนึงถึงขอบเขตและสภาพปัญหา เช่น การจัดสัมมนา การประชุม หรือให้ประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็นในการนี้จะรับฟังความเห็นจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยก็ได้
มาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ประกอบกับมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติทั้ง 3 มาตราดังกล่าวข้างต้น ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
- ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา
- ธุรกิจขายห้องชุด หมายความว่า การประกอบธุรกิจขายห้องชุดในอาคารชุดที่จะดำเนินการก่อสร้าง หรือกำลังดำเนินการก่อสร้าง หรือก่อสร้างเสร็จแล้วและจะนำไปจดทะเบียนอาคารชุด หรือก่อสร้างเสร็จแล้วและได้จดทะเบียนอาคารชุดแล้ว
- ในสัญญากำหนดให้ใช้ขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า 2 มม. และมีสาระสำคัญอื่นๆ เช่น สัญญาว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ระบุตำแหน่งที่ดิน เลขที่โฉนด จำนวนเนื้อที่ของโครงการ ราคาขายต่อ ตร.ม. จำนวนห้องชุดที่จะซื้อ-ขาย รายการทรัพย์สินส่วนกลาง และในกรณีผิดนัดชำระ เป็นต้น
- สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องใช้ข้อสัญญาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
จะเห็นว่าระบบกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนซึ่งต้องอยู่อาศัยในอาคารเดียวกันได้ ต้องมี พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 และกฎหมายอื่นๆ ประกอบด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยภายในเมืองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การพิทักษ์สิทธิในห้องชุดของตนจึงเป็นสิ่งควรรู้และจำเป็นอย่างมากต่อการอยู่อาศัยคอนโด